Saving & Conservation Energy

CCUS: A key role towards “Carbon neutral industry”

CCUS: A key role towards “Carbon neutral industry”
Share with

Article by: Pornphimol Winyuchakrit (Ph.D.) & MEGA Tech

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานของประเทศไทย

อ้างอิงข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกจากรายงานรายสองปีฉบับล่าสุด หรือ ฉบับที่ 3 (The Third Biennial Update report: BUR3) ของประเทศไทยที่นำส่งต่อ UNFCCC (United Nations Framework Conventional on Climate Change) หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกถูกแบ่งการพิจารณาออกเป็น 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน และภาคของเสีย

ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุดมาจากภาคพลังงาน คิดเป็นร้อยละ 71.65 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งประเทศ และมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักมาจากสาขาอุตสาหกรรมพลังงาน (การผลิตไฟฟ้าและน้ำมัน) และสาขาอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้างรวมคิดเป็นร้อยละ 62.37 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากภาคพลังงาน (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)

CCUS: A key role towards “Carbon neutral industry”

รูปที่ 1 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2559[1]

ความหมายของ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน”

“ความเป็นกลางทางคาร์บอน” คือ ความสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ และสามารถทำให้ “การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และ/หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (ดูรูปที่ 2 ประกอบ) โดยทั่วไป มาตรการลดการใช้พลังงานที่มีการดำเนินงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมมีอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการการใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์พลังงานประสิทธิภาพสูง การดำเนินงานต่าง ๆ เหล่านี้มีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้เป็นอย่างมาก แต่ก๊าซเรือนกระจกยังคงมีการปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียวเหลว เป็นต้น) เพื่อดำเนินกิจกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงไม่สามารถทำให้สมดุลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีค่า “เท่ากับศูนย์” ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในโรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้า และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในการพิจารณาปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้พลังงานทดแทน จะให้มีค่าเท่ากับ “ศูนย์” เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์สามารถถูกดูดกลับนำไปใช้ในกระบวนการหายใจของต้นไม้ คาร์บอนไดออกไซด์ประเภทนี้ถูกเรียกว่า “Biogenic Carbon dioxide” ในทางตรงกันข้ามก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้พลังงานทดแทน ได้แก่ มีเทนและไนตรัสออกไซด์จะยังคงถูกพิจารณาว่ามีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

CCUS: A key role towards “Carbon neutral industry”

รูปที่ 2 สมดุลการปล่อยและดูดกลับคาร์บอน[2]

บทบาทที่สำคัญของ CCUS ต่อการมุ่งสู่ “อุตสาหกรรมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน”

การนำเทคโนโลยีการดักจับ นำไปใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture, utilization and storage: CCUS) มาใช้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่คาดว่าจะมีความสำคัญต่อการจัดการคาร์บอนส่วนเกินที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจะถูกนำไปเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บตามธรรมชาติขนาดใหญ่ใต้ดิน เช่น การนำไปกักเก็บไว้ในบ่อน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ แทนที่น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาตินั้น ๆ ที่ถูกขุดขึ้นมาใช้งาน เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ได้เริ่มถูกนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ในต่างประเทศแล้ว ข้อมูลของ IEA (International Energy Agency) ที่รายงานไว้ในปี พ.ศ. 2562 ได้ระบุว่า “การใช้งานระบบ CCUS ขนาดใหญ่จำนวน 16 ระบบ ที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ย การผลิตเหล็กและไฮโดรเจน และกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ สามารถดักจับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่า 30 ล้านตัน ในแต่ละปี[3]” นอกจากนี้ IEA ยังระบุว่าเทคโนโลยี CCUS เป็นแนวทางหนึ่งที่มีความคุ้มค่าที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคิดเป็นต้นทุนในการกำจัดคาร์บอนประมาณ 15 – 25 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์

ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประชาคมโลกคงไม่สามารถปฏิเสธทิศทางของโลก ที่จะมุ่งไปสู่การพัฒนาในรูปแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “มีความเป็นกลางทางคาร์บอน” เพราะฉะนั้นภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซีเมนต์ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า และเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณไม่น้อย และเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการนำเทคโนโลยี CCUS มาประยุกต์ใช้ ควรเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในระดับโลกได้ต่อไปอย่างยั่งยืน


[1] Ministry of Natural Resources and Environment, Thailand Third Biennial Update Report, Retrieved from: https://unfccc.int/documents/267629

[2] Australian Government, Carbon zero and carbon positive, Retrieved from: https://whitearkitekter.com/carbon-neutral-buildings-creating-value-through-architecture/

[3] International Energy Agency, Transforming Industry through CCUS, Retrieved from: https://www.iea.org/reports/transforming-industry-through-ccus